หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,833 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
ตลาดเครื่องสำอาง 3 แสนล้าน ส่งสัญญาณฟื้นตัว ผู้เล่นหน้าใหม่ตบเท้าชิงส่วนแบ่งตลาด ชี้ 3 เมกะเทรนด์ “Clean beauty-Skinimalism-Smart packaging” วอนรัฐชิงโอกาสจีนปิดประเทศล็อกการส่งออก หนุนผู้ประกอบการไทย เร่งส่งออกแทนที่
ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางและความงามของไทยในช่วงปี 2563 ก่อนวิกฤติโควิด-19 พบว่ามีมูลค่าตลาดสูงถึง 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการบริโภคในประเทศราว 1.8 แสนล้านบาท และการส่งออก 1.2 แสนล้านบาท ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไปยัง 18 ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ มูลค่า 2,445 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 10% จากปี 2562
นางวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ (RX Tradex) เปิดเผยว่า ธุรกิจความงามเป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเทรนด์มาเร็วและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการสินค้าเกี่ยวกับความงามจะต้องวิ่งตามให้ทันเทรนด์และรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมและคอนเซ็ปใหม่ๆเช่นคลีนบิวตี้, ออร์แกนิค, วีแกน เพื่อผลิตสินค้าและทำการตลาดที่ตอบโจทย์แต่ละเซ็กเม้นท์ และเกาะเทรนด์ไปพร้อมๆกับผู้บริโภค
ทั้งนี้คาดว่าในปีนี้อุตสาหกรรมความงามจะเติบโตราว 4-5% จากการที่มีผู้ประกอบการหน้าใหม่หันเข้ามาในตลาดธุรกิจความงามมากขึ้นในช่วงโควิด ดังนั้นเชื่อว่าธุรกิจความงามยังไปต่อได้ และจะมีนวัตกรรมเช่น กัญชง กัญชาเข้ามาเสริมในตลาด แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมความงามเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงเพราะความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล จะทำให้เกิดช่องว่างให้แบรนด์ใหม่แจ้งเกิดในตลาดได้มากขึ้น
อีกทั้งช่องทางการขายแบบออนไลน์ที่เข้าถึงตัวผู้บริโภคได้โดยตรง ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สามารถทำการตลาดได้ไม่แพ้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ที่อยู่มานานในตลาด และหากผลิตภัณฑ์ใหม่มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรง ก็จะทำให้สามารถทำยอดขายได้ดีไม่แพ้เครื่องสำอางแบรนด์เช่นกัน
ด้านนางสาวมนทิรา พรประสิทธิ์ Technical Director บริษัท ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด หนึ่งใน OEM รายใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมความงาม กล่าวว่า เทรนด์เครื่องสำอางปี 2566 จะมีเมกะเทรนด์ที่สำคัญ 3 ประเด็นคือ 1. คลีนบิวตี้แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่จะเป็นการขยายขอบเขตจากปีนี้ที่มีการใช้สารจากธรรมชาติ ออแกนิกหรือสารที่ไม่ทำอันตรายผิวไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้
แต่ปี 2566 จะมีการขยายคำจำกัดความมากขึ้นนอกจากดีต่อผู้ใช้แล้วต้องดีต่อโลกด้วยและเน้นย้ำเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นครีมกันแดดที่สามารถปกป้องผิวผู้ใช้และใช้สารที่ไม่ทำลายปะการังด้วย หรือแม้กระทั่งสารทำความสะอาดเช่นครีมอาบน้ำจะต้องไม่ใช้พืชที่มาจากการรุกล้ำป่ามาผลิต รวมทั้งการใช้ขยะจากอุตสาหกรรมหนึ่งมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่นการใช้เปลือกส้มแมนดารินซึ่งเป็นขยะจากอุตสาหกรรมอาหารมาสกัดเป็น whitening ในเครื่องสำอางซึ่งเป็นเทรนด์แนวใหม่ที่มีความน่าสนใจ
เทรนด์ต่อมาคือ Skinimalism หลังโควิดผู้คนจะกลับไปเวิร์คฟอร์มออฟฟิศ การใช้ชีวิตจะกลับไปเร่งรีบ จาก Skin Routine 10 ขั้นตอนอาจจะลดเหลือ 3 หรือ 2 ขั้นตอน เพราะฉะนั้น product skincare makeup จะต้องใช้ all in one หรือเป็นไฮบริดมากขึ้นทุกอย่างจะประสานอยู่ในผลิตภัณฑ์เดียวกัน เช่นสกินแคร์ที่รวมไวท์เทนนิ่ง บำรุงผิว รวมถึงลดริ้วรอย อยู่ด้วยกัน หรือแม้แต่เมคอัพที่สามารถเป็นทั้งบลัชออน,อายแชโดว์และลิปสติกในแท่งเดียวไม่ต้องพกหลายชิ้น
สุดท้ายเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจะไม่ได้เชื่อสื่อมาร์เก็ตติ้ง แต่ผู้บริโภคจะหาข้อมูลเชิงลึกก่อนเพื่อค้นหาสิ่งที่ดีของตัวเอง โดยเฉพาะอินกรีเดี้ยนที่ได้ผลดี มีการวิจัยรับรองและถูกใช้อย่างกว้างขวาง
นอกจากตลาดในประเทศแล้ว แบรนด์เครื่องสำอางไทยยังมีโอกาสเติบโตในต่างประเทศ แต่ผู้ประกอบการที่ต้องการตีตลาดต่างประเทศอาจจะต้องเจาะจงประเทศที่ต้องการส่งออก เพราะแต่ละประเทศมีสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรมที่ต่างกัน บางประเทศมีทางรอดทางเดียวคือต้องมีพาร์ทเนอร์อยู่ในประเทศนั้น และศึกษาในเรื่องของกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่า สินค้าหรือบริการที่จะส่งออกสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศปลายทางและประเมินว่าสามารถผลิตสินค้าที่ตอบสนองกับผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ได้หรือไม่
“ประเทศที่เครื่องสำอางแบรนด์ไทยน่าจะมีโอกาสเติบโตได้ดีคือแถบตะวันออก ซึ่งมีความต้องการคล้ายๆ กันจากสภาพอากาศเหมือนกันทำให้ตอบรับสินค้าไทยค่อนข้างดี และสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีมีคุณภาพถ้าเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่สำคัญตะวันออกกลางเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่และยังไม่ค่อยมีแบรนด์ใหญ่เข้าไปทำตลาดนอกจากแบรนด์ระดับโลก ซึ่งห่างมากกับแบรนด์ระดับล่าง
เพราะฉะนั้นสินค้าของไทยที่เน้นเรื่องความเป็นไทยเช่นอโรม่า สปา และเมคอัพเกี่ยวกับดวงตาเพราะเป็นส่วนเดียวที่เปิดสู่สาธารณะชนเฉพาะ ฉะนั้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอายไลเนอร์ อายแชโดว์ จะได้รับความนิยมอย่างมาก และบางประเทศจะต้องมีเครื่องหมายฮาลาลด้วย”
ด้านนายเอนก เขมพาณิชย์กุล Design Director บริษัท ไทยฮูเวอร์อุตสาหกรรม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า เทรนด์บรรจุภัณฑ์ในวงการเครื่องสำอางทั้งในไทยและต่างประเทศคือลดการใช้วัสดุในบรรจุภัณฑ์ และใช้วัสดุที่เป็นรีไซเคิล ซึ่งแบรนด์ระดับโลกอย่างลอรีอัลมีการตั้งนโยบายออกมาว่าภายในปี 2023- 2024 จะต้องมีวัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 30% อยู่ในบรรจุภัณฑ์
สุดท้ายมองว่าการอุดหนุนอุตสาหกรรม SMEs ของเมืองไทยเพื่อออกไปยังตลาดโลกจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เช่นประเทศจีนผู้ประกอบการสามารถขายของได้ถูกกว่าเราและแข่งขันกับเราได้ทั้งที่ค่าแรง คนจีนแพงกว่าบ้านเรา เพราะว่านโยบายของรัฐมีการอุดหนุนสินค้าและเอากำไรของตัวอื่นมาชดเชยได้
เพราะฉะนั้นรัฐบาลไทยจะต้องสนับสนุน SMEs ให้ออกไปสู่ตลาดโลกได้คือสิ่งที่จะต้องทำโดยด่วน เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีของผู้ประกอบการไทยเพราะจีนปิดประเทศ เพราะฉะนั้นฐานการผลิตของจีนจะหายไปถ้าเรามีตลาดที่เดิมซื้อจากจีนไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นก็ตามจะเป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปทดแทนตรงนั้นได้