ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังซื้อของเวียดนามนับว่าไม่เป็นรองใครในอาเซียน ด้วยประชากรกว่า 95 ล้านคนนั้น เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ วัยทำงาน (working force) ถึง 60% ความสำคัญของกลุ่มคนเหล่านี้คือ ความสามารถในการจับจ่าย และมีไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย ตามเทรนด์ ตามกระแสอยู่ตลอด

หนึ่งในพฤติกรรมของคนเวียดนามที่พบเห็นได้มากขึ้น คือเรื่องของการดูแลตัวเองให้ดูดี รักษาสุขภาพ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีความต้องการผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง และแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มูลค่าของตลาดเครื่องสำอางและบำรุงผิวนำเข้าจากต่างประเทศในปีที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.98 แสนล้านบาท สูงกว่าปี 2559 ถึง 3 เท่า



“ลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซอร์วิส จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมความงาม อินเตอร์ บิวตี้ เวียดนาม กล่าวว่า คนหนุ่มสาวเวียดนามนั้นมีกำลังซื้อ และชื่นชอบผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างประเทศ ทำให้ตลาดความงามในภาพรวมกว่า 90% เป็นสัดส่วนของเครื่องสำอางนำเข้า ส่วนที่เหลือเป็นแบรนด์ในประเทศ เน้นตลาดล่างเป็นหลัก เพราะสินค้าในประเทศค่อนข้างขาดเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นหลักในตลาดความงามเวียดนามยังคงเป็นแบรนด์จากเกาหลี ซึ่งครองสัดส่วนถึง 30% ของตลาดเครื่องสำอางนำเข้า รองลงมาเป็นยุโรป 23% ญี่ปุ่น 17% ในขณะที่ไทยยังมีสัดส่วนอยู่เพียง 13% เท่านั้น เนื่องจากผู้ประกอบการไทยหลายรายยังกลัว เพราะยังไม่มีความเข้าใจในตลาดดังกล่าวมากเพียงพอ แต่ในด้านของผลิตภัณฑ์ สินค้าไทยหลายประเภทมีการยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น กลุ่มของกันแดดและไวเทนนิ่ง เพราะภูมิประเทศที่เป็นเมืองร้อน จึงสามารถพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นเมืองร้อนด้วยกันได้ดี ไม่มัน ไม่เหนอะหนะระหว่างวัน

“ลัดดา” ระบุว่า จากผลสำรวจปีล่าสุด คนเวียดนามเปิดรับกับสินค้าความงามมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่ไอเท็มพื้นฐานอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องการสินค้าที่มีความพรีเมี่ยม ด้วยมุมมองของผู้บริโภคที่มองว่าสินค้าความงาม คือสินค้าหรูหรา และผู้หญิงต้องการที่จะดูดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง เมื่ออยู่กับเพื่อนหรือสามี และในด้านการทำงาน

“คนเวียดนามมีความเชื่อว่าหากรูปลักษณ์ดี จะส่งผลต่ออาชีพและรายได้ที่ดีขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากกลุ่มบล็อกเกอร์และศิลปินดารา สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศจะเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ เพราะมีความพรีเมี่ยม ทันสมัย มีความหลากหลายให้เลือกมากกว่า”

ส่วนด้านของช่องทางการจัดจำหน่ายที่ได้รับความนิยม ยังคงเป็นร้านค้าทั่วไป เช่น ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องสำอางเป็นหลัก ตามด้วยโมเดิร์นเทรด เช่น ศูนย์การค้าและซูเปอร์มาร์ต

โดยคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ตลอดจนการซื้อในช่องทางออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้ามาทำตลาด นอกจากจะต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว ยังต้องวางกลยุทธ์การขายและโพซิชั่นของสินค้า โดยหลักจะต้องเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย มองกระแสความนิยมให้ออก เช่น เรื่องการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ หรือการใส่นวัตกรรมให้สินค้ามีความแปลกใหม่ และแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ รวมถึงการสื่อสารแบรนด์ทั้งในช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เพราะคนเวียดนามนิยมอ่านรีวิวสินค้า หาข้อมูลด้านราคา ฟีดแบ็กจากการใช้ก่อนซื้อจริง

ความหอมหวนของตลาดเวียดนามไม่เพียงดึงดูดให้คนไทยเข้าไปลงทุนเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก โอกาสจึงเป็นของคนที่พร้อมอยู่เสมอ…

ที่มา : คอลัมน์ จับกระแสตลาด หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561