นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2559 โดย : เวทย์ นุชเจริญ

จากพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความงามเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้พบเห็นทำให้“ธุรกิจเครื่องสำอาง”เติบโตมาตลอด

จากข้อมูลของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ระบุว่า เครื่องสำอางไทยมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท เฉพาะตลาดในประทศ มีมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาท ตลาดส่งออกไปต่างประเทศมีมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท กสอ. จะผลักดันให้เครื่องสำอางไทยส่งออกไปต่างประเทศติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ใน 3-5 ปีข้างหน้า ขยายตัวต่อเนื่องปีละ 10% เป้าหมายสำคัญ คือ กลุ่มประเทศ AEC ที่มีประชากร 600 ล้านคน มีประชากรในวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่มีกำลังซื้อสูงถึง 300 ล้านคน

สถาบันวิจัยและสำรวจภาวะธุรกิจ Yano research institute ของประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า โครงสร้างตลาดเครื่องสำอางของไทย มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนกว่า 30 % รองลงมา คือ อินโดนีเซีย 28% และฟิลิปปินส์ 20 % มูลค่าการส่งออกของไทยไปอาเซียน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9.2 % ต่อปี ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีสัดส่วนถึง 44 % ของการส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งหมด ทำให้ตลาดอาเซียน ซึ่งมีมูลค่าตลาด 6 แสนล้านบาท ในปี 2558 เป็นตลาดที่มีศักยภาพ เป็นโอกาสที่สำคัญของเครื่องสำอางไทย

นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด(มหาชน) ที่มียอดขายในปี 2558 ถึง 1,700 ล้านบาท มีสาขาในประเทศกว่า 300 สาขา เปิดเผยว่า ได้ออกไปปักธงทำตลาดในต่างประเทศแล้วหลายประเทศ และยังคงเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะเครื่องสำอางไทยได้รับการยอมรับอย่างดี

ตลาดเครื่องสำอางในประเทศไทยกลุ่มสกินแคร์ มีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวขาว 48% บำรุงผิวทั่วไป 43% ผลิตภัณฑ์บำรุงแบบให้คุณประโยชน์เฉพาะ 9% กลุ่มสกินแคร์ มีการแข่งขันสูงมาก เพราะปัจจุบันมีการเปิดแบรนด์ใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก มีการผลิตออกจำหน่ายหลายยี่ห้อ แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องการขอการยอมรับที่ถูกต้อง ใช้เงินทุนในการการตลาดที่สูง จึงต้องมีการศึกษาข้อมูลในการลงทุนอย่างรอบคอบ

ธุรกิจความงามเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ สามารถต่อยอดแตกแขนงออกไปได้หลายอย่าง อาทิ เช่นร้านเสริมสวย ร้านสปา คลีนิครักษาผิวหน้า คลีนิคศัลยกรรม ร้านเครื่องสำอาง และการผลิตเครื่องสำอาง ในรอบ 2-3 ปี ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการให้ความสนใจลงทุนกันมาก มีการทำตลาดแบบ E-Commerce จึงทำให้มูลค่าตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยหนุนที่สำคัญของประเทศไทย คือ ความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบสมุนไพรที่มีความหลากหลายและมีคุณภาพ ปัจจุบันภาครัฐได้ให้การสนับสนุน มีการส่งเสริมการจัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ และการแก้ไข พ.ร.บ. เครื่องสำอางบางส่วนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิต หัวใจสำคัญ คือ ท่านผู้ประกอบการจะต้องมีการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องสำอาง อาทิเช่น ASEAN GMP มาตรฐานฮาลาล EU Cosmetic Regulation และ Gulf standard ซึ่งจะส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าเชื่อถือ เป็นผลดีต่อการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ไม่ว่าเศรษฐกิจการเมืองจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถยับยั้งความต้องการของมนุษย์ที่อยากหล่ออยากสวยได้ เรื่องของความสวยงามเป็นเรื่องที่ผู้คนยอมเสียเงินจำนวนมากเพื่อให้ความสวยอยู่กับตัวให้นานที่สุด

ใครไม่อยากสวยยกมือขึ้น!!