ที่มา : หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,921 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2566
https://www.thansettakij.com/business/marketing/575627

“เครื่องสำอาง” ฟื้นตัวแรง จับตาตลาดไทย 3 แสนล้านเติบโตเกือบ 10% หลังแห่อัดนวัตกรรม-อีเวนต์กระตุ้นตลาด ชี้เทรนด์คอสเมติกส์รักษ์โลก “ไม่ง่าย”


ข้อมูลจากรายงาน Grand View Research ที่ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกจะขึ้นไปแตะระดับ 3.64 แสนล้านดอลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12.38 ล้านล้านบาทในปี 2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 4.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.4 เท่า ขณะเดียวกันตลาดเครื่องสำอางของไทยก็มีโอกาสที่จะเติบโตสอดคล้องกับเทรนด์โลก

โดยคาดว่าในปี 2573 ตลาดเครื่องสำอางในไทยจะมีมูลค่ากว่า 3.23 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 5.0% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.5 เท่า โดยผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skin Care) มีมูลค่าตลาดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 41% รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม (Hair Care) และเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า (Makeup) ในสัดส่วน 16% และ 12% ของมูลค่าตลาดเครื่องสำอางในประเทศ ทำให้ยังมีโอกาสในตลาดอีกมากสำหรับผู้ประกอบการที่จะกระโดดเข้ามาแข่งขัน

นางเกศมณี เลิศกิจจา กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภาพรวมตลาดเครื่องสำอางในโลกมีมูลค่าราว 9.4 ล้านล้านบาท เติบโต 6% ในปีที่ผ่านมา 

สำหรับประเทศไทยคาดว่าปีนี้จะมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท เติบโตราว 9.46% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน ที่มีการเติบโต 9.26% แต่ยังเป็นทิศทางการขยายตัวที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงโควิดที่เหลือเพียง 1.88% โดยเซ็กเม้นท์ใหญ่ยังคงเป็นครีมบำรุงที่มีมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่เซกเตอร์ที่มาแรง คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในโรงพยาบาล- ร้านขายยา ซึ่งมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กำลังซื้อในประเทศยังไม่ค่อยดีเท่าไร และตลาดความงามไทยเติบโตได้เพราะความพยายามของเอกชนและสมาคมที่ช่วยกันผลักดัน ดึงอีเวนต์ระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทยเพื่อดึงให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเจอกับผู้ประกอบการไทยซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี

“สิ่งนี้น่ากลัวเพราะ Dermacosmetics หรือเวชสำอาง ในมุมกฏหมายจะยุ่งยากมาก ต้องใช้เวลาตั้งแต่การวิจัย ผลิต ไปจนถึงขออนุญาตไม่น้อยกว่า 2 ปี ทำให้คู่แข่งต่างประเทศรู้ว่าเราจะผลิตอะไร ดังนั้นผู้ประกอบการจะไม่ทันต่างประเทศ เพราะเครื่องสำอางเป็นทั้งสุขอนามัยและเป็นแฟชั่น ถ้าเราช้าถือว่าเราเสียเปรียบ แต่คำว่า “เวชสำอาง” ไม่มีทั้งในพรบ.และไม่มีนิยามในตัวเองเป็นเพียงคำที่ใช้ในการตลาด

หมายรวมผลิตภัณฑ์กลุ่มลดริ้วรอย หน้าขาว สิว ฝ้า ซึ่งเป็นสินค้าท็อป ฮิต ขณะเดียวกันไทยส่งออกเครื่องสำอาง อันดับ 19 ของโลก ในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและขยับอันดับขึ้นแน่นอน แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราด้อยคือ บรรจุภัณฑ์ที่ยังทำได้ไม่ดีพอ และอาจทำให้คุณภาพและการรักษาคุณค่าของผลิตภัณฑ์ลดลง”

ขณะเดียวกันเรื่องของ คาร์บอนฟุตพริ้นท์, BCG หรือแม้แต่ green economy อาจกลายเป็นการกีดกันทางการค้า ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ ในต่างประเทศหรือแม้แต่ WHO ยังเข้ามากระตุ้นในประเด็นนี้บวกกับกฏหมาย “มัดจำและคืนบรรจุภัณฑ์” ซึ่งมองว่า “ทำไม่ง่าย” นางเกศมณี กล่าวและย้ำว่า

“กฎหมายข้อนี้ระบุให้ผู้ประกอบการขายเครื่องสำอางพร้อมบวกค่าบรรจุภัณฑ์ เมื่อลูกค้านำบรรจุภัณฑ์มาคืนก็คืนมัดจำกลับไป แต่กระปุกใส่ครีมไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เพราะเสี่ยงติดเชื้อ ขณะเดียวกันกรมการค้าภายในไม่ให้ขึ้นราคาผลิตภัณฑ์”

สำหรับเทรนด์ของโลก ไม่เพียงแต่จำกัดอยู่ที่ “เครื่องสำอาง” แต่เป็นลักษณะของ “สุขภาพและความงาม” นั่นคือ “ต้องสวยจากภายในสู่ภายนอก” ซึ่ง GWI รายงานว่าในปี 2563 ตัวเลขเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพเติบโตสูงถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2568 จะเติบโตแบบดับเบิ้ล โดยเครื่องสำอางยังมีสัดส่วนมากที่สุด 30% มูลค่า 9.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 25% ขณะที่เทรนด์ความงามกลับเข้าสู่ธรรมชาติ คนจะไม่แต่งหน้าจัดจ้าน เน้นแต่งหน้าเป็นธรรมชาติ ผิวดูฉ่ำเงาหรือผิวกระจก

ด้านนางสาวบุษบา จินตโสภณ กรรมการด้านธุรกิจ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมี “made in thailand” เป็น branding ซึ่งปัจจุบันสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ความงามเป็นอันดับ 19 ของโลกกินสัดส่วนมูลค่าการส่งออก มากกว่า 35% จากมูลค่าตลาดส่งออกรวม 8.7 หมื่นล้านบาท

โดยเซ็กเตอร์ส่งออกมากที่สุดคือ “สกินแคร์” ส่วนรองลงมาเป็น “ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม” อันดับ 3 คือ คอสเมติกส์ หรือ เมคอัพ กลุ่มมาสคาร่า อายไลเนอร์ และลิปสติก ส่วนสัดส่วนการขายในประเทศประมาณ 65% สำหรับเทรนด์การผลิตเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ความงาม ตอนนี้จะเน้นไปที่การเจาะจงแก้ปัญหาเฉพาะจุด

“ตลาดความงามเมืองไทยค่อนข้างที่จะหอมหวาน นอกจากผู้ผลิตรายใหญ่ยังมีระดับผู้เล่นรายใหม่เข้ามา ทำให้ตลาดมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้โรงงานหรือภาคการผลิตใหม่ๆเกิดความท้าทายตัวเองในเรื่องของมาตรฐานและการมีนวัตกรรมโดดเด่นเพื่อทำให้โรงงานของตัวเองสามารถยืนขึ้นมาได้ นอกจากนี้ การที่ Influencer หรือ Celebrity หันมาทำเครื่องสำอางแบรนด์ตัวเองเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ผลิตแต่การผลิตสินค้าให้กับกลุ่มนี้จะต้องสร้างคาแรคเตอร์ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้กับแบรนด์ดิ้ง หรือ Celebrity นั้นด้วย”

นวัตกรรมด้านความงามที่เป็นไฮไลท์ของปีนี้คือการพัฒนานวัตกรรมจากต้นน้ำหรือวัตถุดิบดีๆซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนไทยให้เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่สกัดจากภูมิปัญญาต้นตำรับของยาไทย เช่น เกสรดอกบัวหลวง เกสรดอกลำเจียก ซึ่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเครื่องสำอางด้านแอนไทเอจจิ้ง คุณภาพเทียบเท่ากับวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งการทำ Texture ใหม่ๆ มาให้กับเครื่องสำอาง

“เราส่งออกเป็นอันดับที่ 19 ของโลกและเมื่อเทียบกับอาเซียนเราเป็นอันดับ 1 ในการส่งออก ประเทศเรามีคือเรื่องของวัฒนธรรมและBranding ของความเป็นไทย ซึ่งถ้ามองในส่วนของเครื่องสำอางภาคของการผลิตจะมีการเติมเรื่องของธรรมชาติและความปลอดภัยที่เรียกได้ว่าเทียบเท่ากับระดับโลกได้ ในฐานะของผู้ผลิตเครื่องสำอางต้องยอมรับว่ามีการเติบโตขึ้นสูงมากและมีบริษัทชั้นนำที่เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางซึ่งเป็นแบรนด์คนไทยเติบโตในระดับโลก ดังนั้นถ้ามองภาพในอนาคตเชื่อว่าเรามีที่ยืนที่สง่างามในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน”