ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559

ธุรกิจเครื่องสำอางปีนี้มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะตลาดส่งออก "ซีแอลเอ็มวี" จากเศรษฐกิจและกำลังซื้อขยายตัว ถือเป็นโอกาสของ "แบรนด์ไทย"เข้าไปช่วงชิงตลาดจากกระแสนิยมสินค้าไทย

เกศมณี เลิศกิจจา ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมเครื่องสำอางแห่งอาเซียน และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ปีนี้อยู่ในช่วง"ขาขึ้น" ด้วยผู้บริโภคใส่ใจดูแลภาพลักษณ์และสุขภาพ ทำให้ผู้ประกอบการสนใจเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น ทั้งผู้เล่นรายใหม่และรายเดิมต่างวางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คาดตลาดเครื่องสำอางไทยปีนี้เติบโต 7-8% เทียบปีก่อนที่มูลค่า 1.7 - 7.8 แสนล้านบาท (ไม่รวมส่งออก)

ทั้งนี้หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มี"ผู้เล่น"จากต่างประเทศเข้าสู่ตลาดไทย ขณะที่สินค้าจากไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้นโดยเฉพาะอาเซียนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง จึงมีแบรนด์ใหม่เข้าทำตลาดในภูมิภาคนี้มากขึ้นด้วยศักยภาพของไทยที่เป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลี รวมทั้งเป็นฐานการผลิตอันดับต้น ๆ ที่ 16 - 17 ของโลกจึงเป็นโอกาสที่ดีของแบรนด์สินค้าไทยขยายตัวสู่ตลาดโลก

ขณะที่ตลาดส่งออกเครื่องสำอางไทย มีมูลค่า 1 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา ตลาดหลักได้แก่ อาเซียน สัดส่วน 40% ตามด้วย ญี่ป่น ออสเตรเลีย

'โช' เจาะ 'ซีแอลเอ็มวี'

ณัฐพฤทธ์ ตีระพิพัฒนะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีแอนด์เจกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์เซรั่มน้ำแร่ภายใต้แบรนด์"โช" กล่าวว่า ปีนี้จะขยายตลาดไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) รองรับเศรษฐกิจ และกำลังซื้อขยายตัวสูง

"ผู้บริโภคซีแอลเอ็มวี มองว่าสินค้าที่ผลิตจากไทยมีคุณภาพ จึงให้ความนิยมและชื่นชอบ" การเข้าไปทำตลาดต่างประเทศจะจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในแต่ละภูมิภาค เพื่อทำตลาดและกระจายสินค้า พร้อมเน้นออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ

"เวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพจากคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังจับจ่ายขยายตัวสูง พร้อมใช้เงินกับเครื่องสำอางมากขึ้น" ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศขยับขึ้นจาก 40% มาอยู่ที่ 60%

ศรีจันทร์เล็งเมียนมาร์-กัมพูชา

รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแบรนด์ "ศรีจันทร์" กล่าวว่า ปีนี้จะเข้าไปทำตลาดในเมียนมาร์และกัมพูชา ผ่านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งทั้ง 2 ตลาดมีโอกาสขยายตัวในอนาคตจากความนิยมสินค้าที่ผลิตจากไทย ปีที่ผ่านมาได้เซ็นสัญญากับตัวแทนจำหน่าย 5 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และลาว

การขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อกระจายความเสียงธุรกิจและสร้างโอกาสเติบโตประกอบกับแบรนด์ "ศรีจันทร์" มีศักยภาพและความแข็งแกร่งที่จะขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะฮ่องกงและไต้หวัน ผู้บริโภคเปิดกว้างสำหรับแบรนด์ใหม่ซึ่งสินค้าจากไทยได้รับความนิยมเช่นกัน

ตั้งเป้ามียอดขายจากต่างประเทศ 15% ใน 3 ปีจากนี้ขณะที่รายได้รวมปีนี้อยู่ที่ 500 ล้านบาท